Popular Posts

Sunday, April 21, 2013

การเริ่มต้นทำธุรกิจรีไซเคิลขยะ


การเริ่มต้นทำธุรกิจรีไซเคิลขยะ
 
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : กระแส"กรีน"ดันธุรกิจขยะ"บูมสุดขีด" 

"ขยะ" ฟังแล้วไม่น่าอภิรมย์ แต่เชื่อหรือไม่ หากมีการจัดการที่ดีขยะก็คือ"ขุมทรัพย์" ทำเงิน สร้างเถ้าแก่น้อยใหญ่ น้อยคนจะรู้ว่าอุตสาหกรรมขยะให้ผลตอบแทนยวนใจ แม้ต้องทนกับกลิ่นฉุน อับ จนทำให้ปัจจุบันเกิดอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ขยะ (การจัดการขยะครบวงจร) สร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับขยะชุมชน ซึ่งเคยมีผู้ประเมินไว้ว่ามีมากถึง 36 ล้านตัน 

ขณะที่ขยะอุตสาหกรรมมีปริมาณ 22 ล้านตัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นขยะพิษ 17 ล้านตัน และขยะที่แปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) มีจำนวน 4-5 ล้านตัน 

สำหรับการเจียระไน (ขยะ) ในลักษณะคลัสเตอร์ ต้นทางอยู่ที่โรงงานรวบรวมและแยกชิ้นส่วนหรือประเภทขยะ ก่อนจะย่อยเป็นอนุมวลสาร (Back to Basic) กลับไปต้นทาง หรือย้อนกลับไปเป็นวัตถุดิบ ก่อนจะป้อนวัตถุดิบในการผลิตเหล่านั้น กลับไปยังอุตสาหกรรมต้นน้ำหรือกลางน้ำ (ขั้นตอนการผลิตขั้นต้นและกลาง) เพื่อนำวัตถุดิบที่ได้เหล่านี้กลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ (Reuse) หรือแปลงสภาพมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) ในแต่ละอุตสาหกรรมต่อไป อย่างไม่มีวันหมด 

อย่างไรก็ตาม มีบางขั้นตอนของการรีไซเคิลที่ยังไม่สามารถทำได้อย่างครบวงจรในไทย โดยเฉพาะ "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" ซึ่งต้องส่งขยะไปย่อยสลายในต่างประเทศ ซึ่งทำให้เงินตราไหลออกนอกประเทศอย่างน่าเสียดาย 

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ ประธานโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ ผู้ที่คนในวงการนี้เรียกเขาว่า "เจ้าพ่อขยะ" ด้วยจำนวนแฟรนไชส์และสาขาของวงษ์พาณิชย์ที่มีมากกว่า 241 แห่ง เขาคนนี้กล้าฟันธงว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ "กำจัดขยะ" หรือ "รีไซเคิลขยะ" ล้วนเป็นธุรกิจที่มีอนาคตและยั่งยืน 

ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่มีแฟรนไชส์และสาขามากกว่าร้อยแห่งในปัจจุบัน ธุรกิจนี้ยังคืนทุน และทำกำไรได้อย่างรวดเร็วภายใน 1-2 ปี 

ดร.สมไทย ยังทำนายว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นยุค "บูมสุดขีด" ของธุรกิจกำจัดและรีไซเคิลขยะ จากกระแสห่วงใยสิ่งแวดล้อม บนข้อจำกัดของปริมาณทรัพยากรธรรมชาติในโลก 

กระแสดังกล่าวเริ่มเกิดขึ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ลามมาถึงประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย 

ประธานโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ มองว่า ปริมาณทรัพยากรบนโลกที่ร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ จนเกิดกระแสการนำทรัพยากรหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ มีแรงกระตุ้นสำคัญจาก "วิกฤติโลกร้อน" ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจาก "น้ำมือมนุษย์" ในการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ความสำนึกผิดดังกล่าว แปลงมาเป็นข้อวิตกกังวลว่า 

"หากไม่มีเหมืองแร่ดีบุก ทองแดง ให้กระหน่ำใช้กันต่อไป การผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า จะเกิดขึ้นไม่ได้ หรือหากไม่มีเซลิกา ให้มนุษย์ประดิษฐ์ขวด และหากพลังงานที่ขับเคลื่อนเครื่องจักรและเครื่องยนต์อย่างน้ำมันหมดไป จะเกิดอะไรขึ้นบนโลก 

กระแสปกป้องโลกและสิ่งแวดล้อมเริ่มมีมากขึ้น อะลูมิเนียม ตะกั่ว เซลิกา เหล็ก ถูกขุดมาใช้ ขณะที่ต้นไม้ก็ถูกตัดมาทำกระดาษ หากยังทำกันอยู่เช่นนี้สักวันก็ต้องหมด ทุกวันนี้โคลนถล่ม ภาวะโลกร้อนก็มาจากการตัดไม้ทำลายป่า อีกไม่นานการทำเช่นนี้อาจถูกบัญญัติให้เป็นฆาตกรโลก" 

เมื่อทรัพยากรมีจำกัด แน่นอนว่าธุรกิจรีไซเคิลขยะ ย่อมกลายเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีแต่คนแย่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำมาผลิตสินค้าต่อ ตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย !!! 

"พูดง่ายๆ สินค้าที่เราขายมีแต่คนแย่งกันซื้อวัตถุดิบ เราไม่ต้องง้อลูกค้า หากใครพูดไม่ถูกหู เราไม่ขายของให้เลยก็ยังได้ จากทรัพยากรที่ขาดตลาด ทั้งพลาสติก กระดาษ ขวด แก้ว ทองแดง ดีบุก อะลูมิเนียม ฯลฯ ทำให้เราต้องรวบรวมทรัพยากรเหล่านี้ที่มีคนนำมาทิ้ง กลับมาหมุนเวียนใช้อีกครั้ง" เขากล่าว 

ปัจจุบันวงษ์พาณิชย์ ยังรุกคืบเข้าไปเจาะตลาดขยะโดยร่วมมือกับเทศบาลหลายแห่ง โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว ที่กำลังเผชิญปัญหาขยะล้นเมือง ขาดการจัดการที่ถูกต้อง ด้วยการเข้าไปตั้งสาขาหรือแฟรนไชส์ในแหล่งชุมชน เพื่อจัดการขยะที่มองว่าไร้ค่า ให้มีมูลค่าขึ้นมาอีกครั้ง 

จนเทศบาลเริ่มเห็นว่าขยะจะถูกจัดการอย่างเป็นระบบ หากมีการคัดแยกขยะรีไซเคิล ตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ขยะก็จะยังคงเป็นวัตถุดิบที่สะอาด ก่อนจะถูกลำเลียงไปยัง "ศูนย์รีไซเคิล" ส่งผลให้เกิดการรณรงค์คัดแยกขยะขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เห็นผลชัดเจนแล้วในหลายพื้นที่ เช่น พิษณุโลก ที่ปริมาณขยะทิ้งเกือบจะเป็นศูนย์ ทั้งขยะ พลาสติก โฟม กระดาษ 

No comments:

Post a Comment