Popular Posts

Sunday, April 21, 2013

ทำธุรกิจร้านขายเครื่องปั้นดินเผาเเกะสลัก

ทำธุรกิจร้านขายเครื่องปั้นดินเผาเเกะสลัก

บทความจากผู้จัดการออนไลน์ 1 กันยายน 2553
 เกาะเกร็ดถือเป็นแหล่งขึ้นชื่อด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งในอดีตเคยได้รับความนิยมสูงสุด แต่มาถึงปัจจุบัน คนใช้งานน้อยลง พร้อมกันนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยึดอาชีพช่างปั้นมายาวนานค่อยๆทยอยเลิกราไปตามวันเวลา และความนิยมอันเสื่อมถอย
       
 ความห่วยใยดังกล่าว จุดประการให้หนุ่มลูกหม้อที่เติบโตมากับเครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด ต้องการอนุรักษ์งานฝีมือไว้ให้ลูกหลาน ตัดสินใจลาออกจากงานประจำ หันมาเอาดีทางด้านการทำเครื่องปั้นดินเผาแกะสลัก โดยเข้าไปขอความรู้จากผู้สูงอายุในชุมชน ก่อให้เกิดอาชีพที่นอกจากจะช่วยสืบสานเจตนารมณ์ของตนเองแล้ว ยังต่อยอดเป็นธุรกิจสร้างรายได้ให้ครอบครัว

นายสุชาติ กิ่งสดศรี ผู้ผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาแกะสลัก เล่าว่า คลุกคลีอยู่กับเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เกิด ที่เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี ทำให้เห็นกระบวนการทำงานทุกขั้นตอน จนกระทั่งเมื่อประมาณปี 2547 ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อหันมาสานต่องานเครื่องปั้นดินเผาแกะสลัก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นพนักงานกินเงินเดือน แต่ก็หาเวลาว่างทำงานอดิเรกทำเครื่องปั้นดินเผา ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการอนุรักษ์งานฝีมือนี้ไว้ให้ยาวนานที่สุด              ทั้งนี้ หนุ่มรุ่นใหม่ได้เพิ่มเติมความคิดสร้างสรรค์ นำการแกะสลักผสมผสมกับงานเครื่องปั้นดินเผาแบบโบราณ พร้อมกับประยุกต์เป็นเครื่องใช้ต่างๆ เช่น โคมไฟ ถ้วยกาแฟ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สปา ฯลฯ ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ขณะเดียวกันยังสร้างเอกลักษณ์เด่นประจำตัว

“ผมเห็นผู้ใหญ่ในเกาะเกร็ด ทำงานเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เด็ก ซึ่งรูปลักษณ์ก็ยังคงแบบเดิมๆ อย่าง กระถาง โอ่ง และผอบ ซึ่งเครื่องปั้นดินเผามีขั้นตอนการทำที่ค่อนข้างง่าย ในขณะที่เครื่องปั้นดินเผาแกะสลัก นับวันจะหาคนทำยาก เพราะผู้ที่มีฝีมือด้านนี้ต่างล้มหายตายจากกันไป ทำให้ผมเกรงว่างานเครื่องปั้นดินเผาแกะสลักจะสูญหายไป จึงตัดสินใจเข้าไปขอความรู้จากผู้ใหญ่ พร้อมกับฝึกฝนฝีมือเรื่อยมา อาศัยเวลาว่างจากงานประจำฝึกฝนทำเครื่องปั้นดินเผาแกะสลัก แล้วนำไปขายที่ท่าพระจันทร์ โดยระหว่างขายไป ก็จะแกะสลักไปด้วย ทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติสนใจและอุดหนุนไปเป็นจำนวนมาก”

แต่ด้วยทำเลที่ไม่เอื้ออำนวย ถูกไล่ที่อยู่เป็นประจำ ทำให้ต้องย้ายมาขายที่เกาะเกร็ดบ้านเกิดแทน แม้ยอดขายจะไม่เทียบเท่าการขายที่ท่าพระจันทร์ แต่นายสุชาติ ก็ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำเครื่องปั้นดินเผาแกะสลักอย่างจริงจัง หวังต้องการสืบสานงานหัตถกรรมดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ผ่านมา

สำหรับการประสัมพันธ์ให้สินค้าเครื่องปั้นดินเผาแกะสลักให้เป็นที่รู้จัก เขาเผยว่า อาศัยหน่วยงานภาครัฐบาล ช่วยเหลือ ด้วยการสมัครเป็นสมาชิกของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพราะเมื่อมีงานแสดงสินค้าตามที่ต่างๆ จะได้รับเลือกให้ไปแกะสลักเครื่องปั้นดินเผาโชว์ในงาน ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักของทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งการไปทำให้ผู้เข้าชมงานเห็นขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาแกะสลัก จะทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าได้มากขึ้น

จากการที่ได้ไปเปิดตลาดตามงานต่างๆ ของภาครัฐฯ ทำให้ผู้ที่พบเห็นสนใจติดต่อขอซื้อสินค้าในราคาส่ง เพื่อไปจำหน่ายที่เจเจ มอลล์ (JJ Mall) อีกต่อหนึ่ง รวมทั้งมีลูกค้าชาวญี่ปุ่นสั่งผลิตสินค้าประเภท เตาอโรม่า, ชุดกาแฟ, โคมไฟ และผอบขนาดเล็ก เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องปั้นดินเผาแบบเผาให้เกิดสีส้มธรรมดา และเผาให้เป็นสีดำ ที่ใช้เทคนิคการเผาแบบโบราณที่สืบทอดกันมายาวนานจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ปราศจากการใส่สีหรือสารเคมีใดๆ

   ด้านกระบวนการผลิต นายสุชาติ เล่าว่า ออกแบบ รวมถึงปั้นและแกะสลักด้วยตัวเอง จากนั้น ว่าจ้างโรงงานเผาที่ได้มาตรฐาน ทำให้สินค้าเกิดการสูญเสียน้อยมาก ไม่เกิน 10% โดยต้องเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 900 องศาเซลเซียส
“ลวดลายที่ผมแกะสลักจะเน้นลายที่เป็นงานไทยๆ เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายบัว ลายกนก ประจำยาม และรักร้อย ซึ่งเป็นลวดลายที่คนส่วนใหญ่รู้จัก และนิยม ทำให้สินค้าขายง่ายขึ้น ซึ่งการแกะสลักลวดลายนั้น จุดแข็งอยู่ที่ความประณีต ความละเอียดอ่อน และความคมชัดของลวดลาย ซึ่งผมก็พยายามรักษามาตรฐานเหล่านี้ไว้ เพื่อทำให้สินค้าเครื่องปั้นดินเผาแกะสลักไม่สูญหายไปจากตลาด มีคนนิยมชื่นชอบไม่เสื่อมคลาย” นายสุชาติกล่าวทิ้งท้ายด้วยความภาคภูมิใจที่ได้อนุรักษ์งานฝีมือของบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลาน

No comments:

Post a Comment